ตลาดนางเลิ้ง

ตลาดนางเลิ้ง

เที่ยว กิน ตลาดวัฒนธรรม แหล่งชุมชนเก่าแก่ นามว่า “นางเลิ้ง” (อิเลิ้ง) ถ้าพูดถึงตลาดในนามว่า “นางเลิ้ง” แทบจะรู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ยิ่งรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ๆ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่รู้จัก

“นางเลิ้ง” เป็นชุมชนวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ตั้งของวังเก่าในอดีต มีขนมหวานรสเลิศอยู่หลายเจ้า และรูปแบบของการออกแบบตลาดนั้นสวยงามตามสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น แอบย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เชียวนะ

มาค่ะ ขอเล่าประวัติเกี่ยวกับสถานที่นี้กันสักหน่อย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุด “คลองผดุงกรุงเกษม” เพื่อขยายอาณาเขตของราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2394 ความเจริญก็ได้เริ่มเข้าสู่ย่านนางเลิ้งเป็นลำดับ ผลของการขุดคลองผดุงกรุงเกษมนี้ ทำให้เกิดถนนเลียบคลองขึ้น 1 สาย คือ ถนนกรุงเกษม นับแต่นั้นเป็นต้นมา ราษฎรก็นิยมสร้างบ้านเรือน เพาะปลูก ทำสวนบริเวณ 2 ฝั่งคลองที่ขุดใหม่นี้มากขึ้น รวมทั้งในย่านนางเลิ้งด้วย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตัดถนนผ่านย่านนางเลิ้งหลายสายด้วยกัน ประกอบกับทรงบูรณะถนนกรุงเกษมเดิมให้มีสภาพดีขึ้นด้วย ทำให้การเดินทางมานางเลิ้งสะดวกขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็นิยมมาสร้างวังและสร้างบ้านตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมและในบริเวณนางเลิ้งมากขึ้น

เมื่อชุมชนเมืองขยายตัวออกมานอกกำแพงพระนครดังนี้ ย่านนางเลิ้งก็กลายจากสภาพป่ารกร้างมาเป็นที่อยู่อาศัยและชุมชน อาชีพดั้งเดิมที่เคยทำกันมาแต่สมัยบรรพบุรุษก็เริ่มหายไป ความเจริญเริ่มหลั่งไหลเข้ามา เริ่มมีแหล่งบันเทิงเข้ามา เช่น ราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้งและโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี เป็นต้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์บริเวณ 2 ฝั่งถนนนครสวรรค์มากขึ้น เมื่อเกิดแหล่งชุมชน ตลาดนางเลิ้งก็เกิดตามมา อาคารพาณิชย์เหล่านี้เป็นที่ตั้งของร้านค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีชื่อเสียงหลายร้านมาจนปัจจุบัน ด้านหลังอาคารพาณิชย์ก็เกิดเป็นชุมชน รวมทั้งมีโรงหญิงนครโสเภณีหรือบ้านโคมเขียวเกิดขึ้นบริเวณตรอกสะพานยาว วัดแคนางเลิ้งด้วย นอกจากนี้ ยังได้เกิดสถานพยาบาลที่ทันสมัยขึ้น คือ โรงพยาบาลมิชชั่น และเกิดสถานศึกษาขึ้นหลายแห่ง เช่น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พระนครเหนือ) ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักในนาม “พณิชย์พระนคร” ซึ่งเป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพพณิชยการอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงมาแต่อดีต โรงเรียนราชวินิตมัธยม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิด เมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นต้น

ตลาดนางเลิ้ง

ตลาดนางเลิ้ง เดิมเรียกว่า บ้านสนามควาย ก่อนจะเรียกว่า อีเลิ้ง ตามชื่อตุ่มชนิดหนึ่งของชาวมอญ จนมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น นางเลิ้ง ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม นัยว่าเพื่อความสุภาพตามธรรมเนียมนิยมในยุคเชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย

ตลาดนางเลิ้ง เป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย ในสมัยก่อนชาวบางกอกนิยมเดินทางเฉพาะน้ำ จึงยังไม่มีตลาดบกตั้งเป็นหลักแหล่ง เพราะชาวบ้านนิยมพายเรือนำของสวนมาขายตามสองฝั่งคลอง ที่นี่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2442 และวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552 ตลาดนางเลิ้งจะมีอายุ 110 ปีพอดี

สมัยก่อนย่านนี้นับว่าเป็นศูนย์รวมความบันเทิงใจกลางกรุงเลยทีเดียว ย่านนางเลิ้งมีราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) ทั้งยังมีโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันติดปากว่า โรงหนังนางเลิ้ง

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี เป็นอาคารไม้สองชั้น เปิดฉายภาพยนต์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2461 ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 80 ปี สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่บันเทิงที่จะได้ดูหนังจากทุกชาติ ทั้งไทย จีน อินเดีย ฝรั่ง จากจำนวนคนดูที่เคยมากถึงรอบละ 300 – 400 คนก็เหลือเพียงรอบละไม่ถึง 10 คน จนต้องเลิกฉายไปเมื่อปี พ.ศ. 2536 ปัจจุบันเป็นเพียงโกดังเก็บของ ด้านในมีลักษณะเป็นม้านั่งยาว ไม่กำหนดที่นั่ง ใครพอใจที่นั่งตรงไหนก็เลือกได้เต็มที่ เนื่องจากหลังคาโรงหนังเป็นสังกะสี ถ้าวันไหนเกิดฝนตก เสียงเม็ดฝนที่กระทบกับสังกะสีจะกลายเป็นเสียงซาวด์แทร็คคลอบรรเลงตลอดหนังทั้งเรื่อง ก่อนฉายหนังจะมีแตรส่งสัญญาณเป่าเรียกคนดู ระยะแรกฉายแต่หนังใบ้ ไม่มีการพากย์เสียง ดังนั้น เมื่อใดที่ถึงฉากตื่นเต้น แตรวงก็จะทำหน้าที่ใส่เสียงประกอบฉากเพิ่มอรรถรสไปด้วย แต่แล้วปี พ.ศ. 2536 โรงภาพยนตร์แห่งนี้ก็ต้องปิดฉากลง รวมระยะเวลาที่ฉายหนังยาวนานถึง 75 ปี นับเป็นการอำลาที่ควรค่าและสมแก่เวลา ก่อนที่ยุคสมัยของระบบเสียงซีนีเพล็กซ์จะมารับช่วงต่อ (ขอบคุณข้อมูลจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/DekMutimeDiaHCU)

ตลาดนางเลิ้ง

มาค่ะ ได้เวลาคุยฟุ้งเรื่องของกินแถวนี้กันแล้วค่ะ แค่ชื่อก็ทำให้น้ำลายหกได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอกปลาแนม สาคูไส้หมู ขนมบาเยีย ห่อหมก ข้าวเกรียบปากหม้อ เป็ดย่างจิ๊บกี่ บะหมี่รุ่งเรือง ล้วนเป็นเมนูขึ้นชื่อสำหรับนักชิมหลายท่าน ตลอดสองข้างทางในตรอกตลาด เราจะได้เห็นอาหารชื่อโบราณแถมรสชาติเก่าแก่โดยฝีมือคนทำดั้งเดิมที่วางขายกันอย่างแน่นขนัด

มาพูดถึงร้านแรกที่เราแวะกันค่ะ อยู่ถนนตรงข้ามกับตลาดพอดีเลย เป็นร้านขายกระหรี่พั๊ฟ บ้านโดนัทนางเลิ้ง มีทั้งไส้ไก่ ไส้ถั่ว และไส้เผือก ยืนทำกันสด ๆ ใหม่ ๆ หอม ๆ ร้อน ๆ

เราก็ขอซื้อชิมรองท้องกันก่อนเดินข้ามไปฝั่งตลาด รสชาติอร่อยจริง ๆ ด้วยค่ะ หอม ร้อนกำลังดี ไส้เยอะมาก ทานแล้วไม่ผิดหวัง ซื้อกลับบ้านได้เลย เพราะถ้ารอช้าหมดแน่นอนค่ะ ขายดีมาก มาเร็วได้เปรียบ มาช้าหมดอดกินไม่ว่ากันนะคะ ร้านนี้จะอยู่ติดกับร้านจิ๊บกี่ (ขายเป็ด) หาง่ายค่ะ

มาค่ะข้ามถนนไปฝั่งตลาดของจริงกันดีกว่า มุ่งเป้าไปยังร้าน ส.รุ่งโรจน์ (Since 1963) ณ จุดตำแหน่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ “ศาลาเฉลิมธานี” นั่นเอง จะเป็นป้ายขนาดใหญ่แจงเมนูเด็ด ๆ ของร้านโดยเฉพาะที่เขียนไว้ว่า “เป็ดพะโล้ ควบ กระเพาะเป็ดผัดพริกไทยดำ ขาห่านอบลิ้นเป็ด ควบ กระเพาะปลาเนื้อปู” อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเมนูเด็ด ๆ อีกมากมายให้เลือกทานกัน

มาค่ะ เข้าไปภายในร้านกัน ซึ่งตกแต่งไว้ไม่ทิ้งเสน่ห์ของความเก่าแก่ที่ย้อนยุคกลับไปในสมัยนั้นจริง ๆ สังเกตว่าทางเข้าหรือทางเดินที่เชื่อมกันให้เดินเข้า-ออกนั้น จะเป็นซุ้มทรงโค้ง (สมัยรัชกาลที่ 5) พร้อมวาดภาพประกอบผนังปูนด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของถิ่นเก่าแก่นี้จริง ๆ เช่น ภาพวาดของนักแสดงชื่อดังในอดีต มิตร ชัยบัญชา ซึ่งได้เกิดและเป็นคนถิ่นนางเลิ้ง

ภาพวาดเรือนหมอพร เดิมเป็นคลินิกแพทย์แผนโบราณของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เรือนไม้กลิ่นอายวิคทอเรียนสีฟ้าน้ำทะเล ตั้งเด่นสง่าในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พระนครเหนือ

และภาพวาดโอ่งอีเลิ้ง อีเลิ้งหมายถึงตุ่มหรือโอ่งใหญ่ เรียกกันว่า ตุ่มอีเลิ้ง หรือตุ่มนางเลิ้ง หรือโอ่งนครสวรรค์

ได้เวลามาดูกันว่าเมนูดังที่คนดัง ๆ มากมายแวะเวียนกันมาชิมไม่ขาดสายนั้น เด็ดดังและอร่อยอย่างไร เมนูที่เราสั่งก็มี บะหมี่ลวก ทานเปล่า ๆ ยังอร่อยเลย หอมน้ำมันเจียวอ่อน ๆ จัง

ห้อยจ๊อปู เนื้อแน่นมากค่ะ ทอดกรอบนอกนุ่มใน สบายปากอร่อยฟิน ๆ

เป็ดพะโล้ ใครไม่สั่งคงไม่ได้ สั่งกันแทบทุกโต๊ะ เนื้อนุ่มดีค่ะ ทานกับน้ำจิ้มเพิ่มรสชาติให้กับความเปรี้ยวและแซ่บนิด ๆ

ตีนห่านอบหม้อดิน มาร้อน ๆ ทานกับข้าวสวย อร่อยเว่อร์ อบมาอย่างดี นุ่มและเปื่อยทุกชิ้น ด้วยรสชาติกลมกล่อมกำลังดี

เล้งต้มแซ่บ ร้อน ๆ ซดไป สะใจไป รสชาติไม่ธรรมดา เนื้อหมูต้มมาจนเปื่อย เคี้ยวง่าย คล่องคอค่ะ

สำหรับเครื่องดื่มอย่างเช่น โอเลี้ยงยกล้อ

เก็กฮวยร้อน

และโซดามะนาว

ไปเดินกันต่อเลยค่ะ ในตลาดคงมีของดี ๆ อีกมากมายให้แวะชิมความอร่อยอย่างแน่นอนค่ะ เรามาหยุดกันที่ “ร้านข้าวแกงแม่รัตนา” ถือว่าเป็นร้านข้าวแกงใหญ่ที่สุดในตลาดนี้แล้วค่ะ เปิดมากว่า 30 ปีแล้ว มีทั้งของหวานและของคาว

สำหรับของคาวนั้นมีเมนูดี ๆ เด็ด ๆ ให้เลือกซื้อทานที่ร้านหรือนำกลับบ้านก็ตามสะดวกค่ะ มีทั้งแกง ผัด ต้ม ซุป ยำ และข้าวราดแกง ราคาตั้งแต่ 30 บาทขึ้นไป และที่ร้านนี้ใช้สิทธิ์ “คนละครึ่ง” ได้นะคะ

ยังมีขนมหวานด้วย เราเลยขอชิมขนมหวานกล้วยบวชชี และขนมครองแครง กันก่อนเลย

หน้าตาดูดีมาก หอมชวนให้เข้าไปตักชิมเสียจริง เขาใช้กะทิสดใหม่ทุกวันให้รสชาติเค็มนิด ๆ อย่างธรรมชาติ กลิ่นหอมอ่อน ๆ ทำให้ทานกันจนหมด แล้วพูดว่า “สั่งกลับบ้านกัน”

และถัดไปจากร้านรัตนาก็เป็นร้านขายเต้าหู้ใบตองตลาดนางเลิ้ง ทำสะอาด เรียกได้ว่า Real Homemade ทีเดียว มีทั้งเต้าหู้เหลืองแข็ง นิ่ม ห่อผ้า และทอดด้วยค่ะ

ถัดมาอีกร้านก็เป็นร้านข้าวแช่เพชรบุรี ร้อน ๆ แบบนี้สักถ้วยไหมค่ะ ชื่นใจดีนะคะ ทานเสร็จแล้ว เดินช้อปต่อได้เลย (คนละครี่งไม่หมดวันนี้ไม่กลับค่ะ แต่คิดว่าน่าจะเกินวงเงินที่เขากำหนดในแต่ละวันแน่นอน แต่ไม่เป็นไร มาถิ่นเก่าเช่นนี้ ของอร่อยปานนี้ ไม่จ่ายได้อย่างไรค่ะ)

คราวนี้เราขอเดินเลาะลัดไปอีกฝั่งของตลาดดีกว่า ผ่านร้านตัดเสื้อผ้าด้วย ทำให้นึกถึงรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรามาก ท่าน ๆ คงคุ้นชินกับการตัดเสื้อผ้ากับร้านสไตล์นี้ในยุคเก่าก่อน

ตอนนี้เราขอไปช้อปเมนูจำพวกขนมและของหวานกันบ้างนะคะ ทุกร้านที่นี่รับรองของดี อร่อย และเป็นรสชาติดั้งเดิมที่หาทานยากแล้วในตลาดทั่วไปในปัจจุบัน ก็มี “ร้านนันทาขนมไทย” ไม่มีสาขานะ

ถ้าอยากทานขนมไทย ๆ อย่างเช่น ตะโก้ เผือก กล้วย มัน ข้าวเหนียวหน้าสังขยา เและข้าวเหนียวหน้ากระฉีก (มะพร้าวขูดเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ) เป็นต้น ต้องที่นี่ที่เดียวค่ะ

ดต่อไปเลย หยุดซื้อคงไม่ได้แล้ว น่าดู น่าอร่อยทุกร้าน ร้านนี้เป็น “ร้านสาคูไส้หมูแม่สอิ้ง” เจ้าเก่า ดั้งเดิม ใครมาต้องแวะ ต้องซื้อ รับรองอร่อย ขึ้นชื่อจนหลายคนพูดถึงกัน มีทั้งสาคูไส้หมู ไส้ปลา ไส้กุ้ง ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้าวตังเมี่ยงลาว และข้าวตังหน้าตั้ง เจ้าต้นตำหรับ มาลองกันนะคะ

นั่นไง เจอแล้ว “ไส้กรอกปลาแนม” ขึ้นชื่อของถิ่นนี้เลย ใคร ๆ ก็ต้องบอกว่ามาแล้วต้องซื้อฝากด้วยนะ ดูน่าทานยิ่งนัก สะอาดและปลอดภัยค่ะ มีปลาแนม ไส้กรอกหมู ไส้กรอกข้าว และไส้กรอกปลาแนม ขอบอกนะคะว่าใครแวะต้องสั่งกันถุงใหญ่ชุดใหญ่กันทั้งนั้น เพราะถ้าอร่อยขึ้นมาแล้ว ต้องกลับมาซื้ออีกเป็นแน่ ใครบ้านไกล ซื้อชุดใหญ่เลยค่ะ

ระหว่างยืนทานปลาแนมอยู่ หันหลังไปแค่นิดเดียวก็เจอซะแล้ว ป้าด้านหลังเชิญชวนให้ชิมขนมเทียนแก้ว ราคาเพียงแค่ลูกละ 5 บาท ป้าบอกทำเองมานมนานแล้วหลายปีอยู่ รสชาติดั้งเดิมใช้ได้เลยค่ะ

ยังไม่พอค่ะ ยังไม่อิ่มเท่าไรนัก ขอไปอีกร้านก็แล้วกัน ไปกันเลยค่ะ “ไทยเจริญเกี๊ยวซ่า” ตลาดนางเลิ้ง เป็นร้านที่เพื่อน ๆ ในเพจเขาแนะนำให้แวะ และต้องชิมให้ได้ การตกแต่งร้านเล็กกะทัดรัด น่ารัก สั่งกับเจ๊หน้าร้านแล้วเข้าไปนั่งด้านใน ซึ่งมีเพียงไม่กี่โต๊ะ แต่บังเอิญเรามาในจังหวะที่คนน้อย เลยได้ที่นั่งแบบสบาย ๆ กัน ร้านนี้เป็นร้านเล็ก ๆ สไตล์ญี่ปุ่น เปิดขายเกี๊ยวซ่าแป้งบางกรอบมีไส้ให้เลือกทั้งไส้หมู ปูอัดสาหร่าย แฮม พะแนงไก่ ยำสาหร่าย พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด นอกจากนี้ ยังมีเมนูทาโกะยากิ โอโคโนมิยากิ (พิซซ่าญี่ปุ่น) และกุ้งเทมปุระด้วยนะ

เกี๊ยวซ่า

โอโคโนมิยากิ (พิซซ่าญี่ปุ่น)

เราขอหยุดพักท้องในตลาดก่อนนะคะ แต่ไม่หยุดที่จะเดินต่อกันไปเพื่อหากาแฟจิบเบา ๆ แก้ง่วงก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ทางผ่านเพื่อจะไปที่ร้านภัทรพัฒน์ จะผ่าน “ร้านบุญเลิศ” บะหมี่เกี๊ยว ข้าวหมูแดง ที่ขึ้นชื่อว่าต้องลองเพราะอร่อยในระดับ Micheline Guide Thailand 2021 ยกนิ้วให้ ใครผ่านไปผ่านมาแวะเพื่อท้าชิมความอร่อยกันค่ะ

เอาล่ะ เราไปกันต่อค่ะ เราเดินเลาะตามริมถนนฟุตบาททางเท้าเรื่อย ๆ จนมาถึงร้าน “ภัทรพัฒน์ PatPat” ขอหยุดพักได้เครื่องดื่มเย็น ๆ กันสักหน่อยก่อนกลับบ้านนะคะ อย่างเช่น อเมริกาโน่เย็น Pat Pat Signature, คาราเมลมัคคิอาโตปั่น, Coffee Toffee และ Passion Fruit

บรรยากาศของร้านน่าดูน่าชมมากค่ะ โปร่งโล่งสบาย ๆ ด้านล่างขายของที่ระลึก มีมากมายหลากหลายให้เลือกซื้อ

ครึ่งวันผ่านไปด้วยความเพลิดเพลิน ได้ทั้งความรู้ ความเข้าใจถึงวัฒนธรรมเก่าแก่แห่งนางเลิ้ง ได้ความอร่อยที่ให้รสชาติความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม เสน่ห์ของแม่ค้าพ่อขายที่ส่งเสียงเชื้อเชิญให้เข้าไปเลือกชิม เลือกซื้อ บรรยากาศกับอายุที่ยาวนานของชุมชนที่ไม่เคยทิ้งความหลังและความเก่าแก่ไว้ในอดีตอย่างไร้ประโยชน์และคุณค่า แต่ได้ปรับปรุงพัฒนาไปตามวิถีแห่งยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างกลมกลืม พวกเรารู้สึกว่า “หลงรักนางเลิ้ง” ให้เข้าแล้วค่ะ

น้ำมันพืชตราผึ้ง ปลอดไขมันทรานส์

“ผึ้ง” กรอบอร่อยได้คุณค่า แบรนด์ของคนรุ่นใหม่

Cooking By Bee

Similar Posts