กินเที่ยวสายมู ณ ศาลเจ้ากวนอู
อารมณ์พาไปมูในช่วงต้นปี ยังคงไม่สิ้นสุด บ้างก็มูตลอดวัน เดือน และปี เพราะความเชื่อ ความหวัง และความสุข ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด มาค่ะ ครั้งนี้เราไปมูกัน ณ “ศาลเจ้ากวนอู” ซึ่งคงเป็นทริปที่โปรดปรานของหลายคนก็ว่าได้ มูแล้ว แวะเที่ยวกินไปเพลินๆ กลับบ้านรอความหวังอย่างสุขล้นๆ เรียกได้ว่า “กิน เที่ยว มู” ครบๆ จบในหนึ่งวัน
ก่อนอื่นขอพูดถึง “ศาลเจ้ากวนอู” กันสักหน่อย ในกรุงเทพฯ ที่รู้จักกันดีก็ตั้งอยู่แถวอำเภอคลองสาน (จังหวัดธนบุรี) เรียกได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในไทย ใครอยากของานและการค้า ถือว่ามาไหว้แล้วรอผลแบบปังๆ หายห่วง ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อายุกว่า 288 ปีในปี พ.ศ. 2567 สังเกตุได้จากป้ายหน้าศาลที่เขียนว่า ศาลเจ้ากวนอู อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี !โอยตั้งแต่เป็นชื่อของเมืองหลวงเก่าแห่งกรุงธนบุรีเลยทีเดียว ว่ากันว่าในอดีตพระเจ้าตากสินเคยมาสักการะองค์เทพเจ้ากวนอูที่แห่งนี้ จึงทำให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าจะช่วยให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและกิจการรุ่งเรือง
ต้นกำเนิดของการสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2279 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายที่มีชาวจีนฮกเกี้ยนได้อัญเชิญรูปปั้นเทพเจ้ากวนอูองค์เล็กสุดเข้ามาประทับในศาลเจ้าแห่งนี้เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้มากราบไหว้บูชาขอพรกัน หลังจากนั้นก็ได้มีกบูรณะศาลเจ้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมกับอัญเชิญองค์เทพเจ้ากวนอูองค์กลาง (องค์ที่สอง) มาประดิษฐานในปี พ.ศ.2345 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ได้มีการอัญเชิญเทพเจ้ากวนอูองค์ที่ 3 ซึ่งเป็นองค์ใหญ่ที่สุดเข้ามาประดิษฐานเพิ่มเติม รวมเป็นองค์เทพเจ้ากวนอูทั้ง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามยังมีอีก ณ ที่แห่งหนึ่งของศาลเจ้ากวนอู (แต่เล็กกว่า) อยู่ในชุมชนริมคลองบางไส้ไก่ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่) เป็นศาลเจ้าในรูปแบบเรียบง่ายในชุมชนเล็กๆ ซึ่งเกิดจากความศรัทธาของชาวจีนในย่านนั้นเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างเสร็จพร้อมประกอบพิธีเปิดศาลเมื่อปี พ.ศ. 2507 ภายในประดิษฐานเทพเจ้ากวนอูปางประทับบัลลังค์ทรงถือตำราชุนชิว พร้อมด้วยองค์ไต่เซียหุกโจ้วและเทพแห่งโชคลาภ (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) ในยุคกว่า 50 ปีที่ผ่านมาศาลเจ้าแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวจีนในย่านนั้นที่ก่อตั้งขึ้นเป็นสมาคมกวงร่วมใจเพื่อช่วยเหลือและประกอบการกุศลต่างๆ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป และที่ตั้งของศาลอยู่ในซอยแคบ รถไม่สามารถเข้าถึงได้ มีเพียงทางเดินริมคลองแคบๆ รวมถึงผู้คนเก่าแก่ในชุมชนนี้ได้ย้ายออกไปจำนวนมาก ศาลแห่งนี้จึงค่อยๆ เริ่มหายไปจากความรู้จักของคนรุ่นหลังๆ แต่ทุกวันนี้ศาลเจ้าแห่งนี้ยังคงมีผู้ดูแลเป็นเพียงผู้สูงอายุในชุมชนและยังคงมีการจัดงานประจำปีในวันฉลองเทพเจ้ากวนอูตามกำลังของศาลเจ้า เพื่อรักษาประเพณีดั้งเดิมที่มีอยู่มิให้เลือนหายไป อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงเห็นบางคนทั่วๆ ไปที่แวะเวียนมากราบไหว้กันอยู่เป็นเนืองๆ
ความเชื่อและความศรัทธาย่อมเป็นเรื่องราวแห่งวิถีชีวิตของผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดๆ ก็ตาม ณ “ศาลเจ้ากวนอู” เป็นเทพแห่งความหวังที่ผู้คนมากมายมักมากราบไหว้ขอพรในเรื่องของตำแหน่งการงาน ลาภยศ การซื้อขายที่ดิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามตำราบางเล่มกล่าวไว้ว่า เทพกวนอูเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์มาก ไม่รับสินบนใดๆ ดังนั้นถ้าจะมากราบไหว้ แนะนำห้ามบนบาน แค่ขอพรเฉยๆ ถ้าสมปรารถนาก็มาทำบุญขอบคุณท่าน
หลังจากมากราบไหว้ขอพรกันแล้ว ย่านนั้นก็มีร้านอาหารที่นิยมกันมาก นั่นก็คือ “บ้านอากงอาม่า” ร้านนี้เป็นบ้านไม้โบราณกว่า 100 ปี ติดศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน) เสิร์ฟพร้อมทั้งของคาว หวานและเครื่องดื่ม เป็นบ้านเก่าแก่ในย่านคลองสานที่ทุกวันนี้ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ตามปกติ และได้ปรับปรุงบริเวณชั้นล่างให้กลายเป็นร้านอาหารและคาเฟ่สุดเก๋ริมน้ำนั่นเอง เรียกได้ว่าเปิดโอกาศให้มาสัมผัสถึงความสวยงามของบ้านเรือนโบราณและวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคู่ไปกับการได้ลิ้มลองเมนูไทยอร่อยๆ
ถัดจากร้านอาหาร (ติดกัน) เป็นบ้านจีนโบราณทั่งง่วนฮะ ที่เปิดให้เข้าชมได้ (แต่ต้องจองก่อนเข้าชม และสามารถจองเป็นกลุ่มทัวร์ที่เข้าชมบ้านเก่าพร้อมรับประทานอาหารที่บ้านอากงอาม่าไปในตัว) “บ้านจีนโบราณทั่งง่วนฮะ เป็นอาคารเก่าแก่ที่มีความงดงาม ด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ อาคารหลังนี้เคยถูกใช้งานในธุรกิจต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ก่อนที่นายทั่งไต้ซิงจะมาบุกเบิกกิจการใหม่คือ โรงงานผลิตน้ำปลาทั่งง่วนฮะ และส่งต่อไว้เป็นมรดกของลูกหลานจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ได้ปิดตัวลงไปแล้ว
กิน เที่ยว แบบสายมู ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นคุณค่าทางใจที่เติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้น พักใจ พักกาย ด้วยความรัก ความศรัทธา และความหวัง ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้คนปรารถนากัน “ไม่มากก็น้อย”
“น้ำมันปาล์มตราผึ้ง” โดยกลุ่มปาล์มธรรมชาติ ขอร่วมส่งเสริมเพื่อสืบสานคุณค่าแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิต “กินดี อยู่ดี สุขภาพดี” รวมไปถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อน เพื่อโลกที่น่าอยู่ของสังคมไทย