ชุมชนวัดสระเกศ ภูเขาทอง
วัดสระเกศ หรือวัดภูเขาทอง เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน ถ้าย้อนกลับในยุคสมเด็จพระพุฒาจาย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อันเป็นที่เคารพรักของผู้คนมากมาย ในขณะนั้นท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม เกี่ยว โชคชัย ฉายา อุปเสโณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าทีสมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานสมัชชามหาคณิสสรคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย และอดีตประธานกรรมการมหาเถรสมาคมนั่นเอง ภาพความทรงจำดี ๆ ยังคงอยู่ในความระลึกถึงเสมอมา
วันนี้เป็นที่รู้กันว่า วัดสระเกศกำลังพัฒนาและซ่อมแซมงานก่อสร้างอีกครั้ง น่าจะเสร็จสิ้นประมาณต้นปีหน้า เราคงได้เห็น “ภูเขาทอง” ที่มีพระอาทิตย์เสียบยอดภูเขาทองอย่างสง่างามและสวยงามในทุกๆ มุมเหมือนกับปรากฏการณ์ “พระอาทิตย์เสียบยอดภูเขาทอง” ที่บรรดานักถ่ายรูปต่างรอคอยที่จะได้บันทึกภาพของปรากฏการณ์ พระอาทิตย์เคลื่อนมาตรงกับยอดเจดีย์ภูเขาทองที่วัดสระเกศ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม และ เดือนตุลาคม ที่พระอาทิตย์ดวงกลมโต จะมาบรรจบที่ตรงนี้พอดี นักบันทึกความทรงจําทั้งหลาย ก็คงไม่อยากพลาดปล่อยโอกาสเช่นนี้ให้หลุดมือไป เพราะมันอาจเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่จะปล่อยให้ความสวยงามต้องเลือนหายจากไปตามกาล
วัดสระเกศ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมตั้งใจสร้างเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่เหมือนวัดอรุณ แต่ดินในพื้นที่พระนครเป็นดินเลน ดินทะเลตม เป็นที่ลุ่มชุ่มชื้น ทำให้ฐานรากพระปรางค์ทรุดลงมา รัชกาลที่ 4 จึงเอาสิ่งสลักหักพักมาทำเป็นฐานรูปภูเขาแล้วสร้างพระเจดีย์ทรงลังกาไว้บนยอดสูงสุด มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อุปราชจากอินเดียมาทูลเกล้าถวาย ระหว่างทางขึ้นบันไดประมาณ 344 ขั้น จะมีระฆังให้เราได้เคาะ ลมด้านบนค่อนข้างแรงมากๆ ทางขึ้นจะค่อยๆ ชันขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเริ่มเหนื่อยแล้ว แนะนำให้พักแล้วค่อยๆ เดิน มองบรรยากาศรอบๆ รับรองหายเหนื่อแน่นอน
หลังจากชื่นชม “วัดสระเกศ” กันแล้ว เราขอมาเริ่มเดินรอบๆ ชุมชนภูเขาทองกัน น่าจะเป็นเส้นทางใหม่สำหรับการกินและท่องเที่ยวย่านพระนครของผู้คนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ถือว่าเป็นเส้นทางที่น่าสนใจอย่างยิ่งในเรื่องของภูมิปัญหาท้องถิ่น ทั้งอาคาร บ้านเรือนเก่าแก่ รสชาติอาหารดั้งเดิม และชุมชนที่ยังทำมาหากินแบบพอเพียงและเรียบง่าย เราจะพบเห็นการผสมผสานวัฒนธรรมเก่าและใหม่เข้าด้วยกันอย่างมีเสน่ห์ อาคาร ตึกแถวที่ยังใช้ทำมาหากินค้าขาย ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ยังคงมีเมนูท้องถิ่นและประยุกต์ให้ลองชิมกันอย่างเพลิดเพลิน โดยเฉพาะย่านนี้เป็นแหล่งค้าขายไม้ค่อนข้างมาก และเคยเป็นเส้นทางการขนส่งไม้ในอดีต ที่มาจากคลองผดุงกรุงเกษมนั่นเอง กิจการค้า แปรรูปไม้ โรงเลื่อย โรงผลิต งานช่างไม้ กระจายอยู่รอบ ๆ ย่านภูเขาทอง
คนส่วนมากที่มาวัดสระเกศ มักคิดว่ามีแต่ภูเขาทอง แต่จริง ๆ แล้วมีชุมชนที่น่าสนใจอีกมาก แต่ย่านนี้ยังมีวัดและสถานที่สำคัญๆ ที่ใกล้เคียงกัน อย่างเช่นมีวัดราชนัดดา ป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ป้อมในกำแพงเมืองที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่ตอนนี้ได้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว และอีกด้านของถนนจะเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เป็นลานสวนกลางแจ้งตั้งอยู่บริเวณมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชย เขตพระนคร ตั้งชื่อตามพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พื้นที่โดยรอบเป็นลานกว้าง มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการรจัดสร้างพลับพลาที่ประทับเพื่อใช้เป็นที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกเมืองของประเทศ ลานพลับพลาแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2532 บนสถานที่เดิมของศาลาเฉลิมไทย ที่ได้รื้อถอนไปด้วยเหตุผลด้านทัศนียภาพ
ใครไม่เชื่ออย่าลบหลู่ มีบางท่านเคยแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รู้สึกสบายใจ ทำให้ชีวิตที่ติดขัด มีอุปสรรคมากมายนั้น พอมา ณ แห่งนี้แล้ว ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี เราเองก็ต้องประพฤติตนให้อยู่บนศีลธรรมอันดีด้วยนะคะ
“น้ำมันปาล์มตราผึ้ง” โดยกลุ่มปาล์มธรรมชาติ ขอร่วมส่งเสริมเพื่อสืบสานคุณค่าแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิต “กินดี อยู่ดี สุขภาพดี” รวมไปถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อน เพื่อโลกที่น่าอยู่ของสังคมไทย
เครดิต: ข้อมูลบางส่วนมาจาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดสระเกษราชวรมหาวิหาร