Local Food, Street Arts ศิลปะการกินอยู่ ณ ตลาดน้อย
“วิถีแห่งแม่น้ำ แหล่งก่อเกิดผู้ซื้อและผู้ขาย” ใคร ๆ ก็รู้กันว่าย่านตลาดน้อยเป็นแหล่งจีนเก่าย้อนยุคกว่า 300 ปี ที่ไม่เลือนหาย “ตลาดน้อย” หรือ “ตะลักเกี้ยะ” เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นตลาดใหม่ที่ขยายพื้นที่มาจากตลาดสำเพ็ง ชาวจีนฮกเกี้ยนหรือจีนแคะเป็นชนกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มเข้ามาตั้งรกรากกันในแถบนี้นับตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถูกปรับปรุงแปลงโฉมใหม่ จนกลายเป็นย่านแห่งความคิดสร้างสรรค์ และการเข้ามาของ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ตั้งแต่นั้นมาถนนสายเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ก็แต่งแต้มไปด้วยศิลปะในทุกอณูพื้นที่ มีสตรีทอาร์ตที่สอดประสานเข้ากับการใช้ชีวิตและการกินอยู่ของตลาดน้อยแห่งนี้
การสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นสายสัมพันธ์และความผูกพันแห่งวิถีการกินอยู่ของ คนในชุมชน กาลเวลาเปลี่ยน สิ่งใหม่ ๆ ก็หมุนตามปรับเปลี่ยนกันไป ทุกมุม ตรอก ซอกและซอยสะท้อนถึงความเรียบง่ายและการปรับใช้ชีวิตของชุมชน (แบบชาวบ้าน) เรียกได้ว่ายังคงเอกลักษณ์และยังมีเสน่ห์ที่พร้อมจะควักมือเรียกให้ผู้คนเข้ามาแวะเวียนกัน
“ตลาดน้อย” คงไม่เงียบเหงาเป็นแน่ เห็นได้จากการทำมาค้าขาย และการอยู่กินที่พร้อมเพรียงกันออกมาสร้างสีสันให้กับชุมชนแห่งนี้ จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย หรือการบริการต้อนรับ ที่ยังคงคึกคักและแฝงไปด้วยความอบอุ่นและพร้อมเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามาใกล้ชิดกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจการร้านค้า ร้านอาหารที่ลูกหลานหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ต่างก็กลับมาสืบสานดำเนินงานต่อจากรุ่นอากงหรืออาม่า นับว่าเป็นเรื่องราวจากการเริ่มต้นด้วยความรัก ความอบอุ่น ที่พร้อมจะบานสพรั่งอีกครั้งในยุคคนรุ่นใหม่ ๆ
การพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กับการสร้างสีสันและรูปแบบที่แปลกใหม่ของการค้าขายและร้านค้า อาหารที่ได้ปรับลุคให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ พูดง่าย ๆ ว่าคนรุ่นใหม่น่าจะอยากเห็นเอกลักษณ์เดิม ๆ ที่ผสมผสานสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปด้วยกันอย่างลงตัว เรียกได้ว่า “อาหารกับฝีมือความอร่อยของคนรุ่นเก่า ๆ” ยังคงเป็นที่ชื่นชอบและเป็นสิ่งที่น่าใฝ่หาของคนรุ่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ ตรงจุดนี้เองคือคุณค่าที่จะดึงดูดทั้งความชอบและความน่าสนใจของผู้คนที่ต่างยุค ต่างวัยได้ดีทีเดียว
จุดเด่นและเสน่ห์ของ “ตลาดน้อย” มักจะเห็นได้ตามตรอกซอกซอย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกินและชีวิตความเป็นอยู่ที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา พร้อม ๆ กับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาแต่งเสริมเติมสีให้ดูมีชีวิตชีวา การใช้เวลาเพื่อกินเที่ยวตามเส้นทางของสถานที่นี้ไม่มีคำว่า “เสียเวลา” เลย เราจะพบเห็นภาพวิถีชีวิตกับการค้าขาย อาหารการกิน งานสร้างสรรค์ ศิลปะและการผสมผสานความเก่ากับความใหม่ของยุคดิจิตอล รวมไปถึงภาพของอากง อาม่าที่ปรับเปลี่ยนวิถีค้าขายให้มีแฟชั่นและมีสีสัน ตามกาลเวลาและกระแสนิยม
“ตลาดน้อย” ในวันนี้เป็นแหล่งกินเที่ยวเชิงชุมชน ที่พร้อมจะเติบโตไปกับยุคปัจจุบัน แม้สักวันจะมีห้างใหญ่เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่รอบ ๆ แต่ตลาดน้อยก็จะคงเอกลักษณ์ ตลาดชุมชนที่คงคุณค่าทางใจไปได้อย่างยาวนาน รวมถึงการรักษาและอนุรักษ์ “ความเก่า” ที่ผสมผสานความลงตัวกับ “ความใหม่” ได้ดี เรื่องราวของความเป็นอยู่ที่สร้างสีสันให้กับชุมชนแห่งนี้ยังคงถูกปรับให้พัฒนาต่อไป ในรูปแบบที่แปลกใหม่ยิ่งขึ้น นั่นเป็นเรื่องที่ “เป็นไปได้”
“น้ำมันปาล์มตราผึ้ง” โดยกลุ่มปาล์มธรรมชาติ ขอร่วมส่งเสริมเพื่อสืบสานคุณค่าแห่งวัฒนธรรมในโครงการ “กินดี อยู่ดี สุขภาพดี” ของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง