10 ปลาไทยราคาบ้านๆ โอเมก้า 3 สูงไม่แพ้แซลมอน


“โอเมก้า 3” เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน เพราะช่วยบำรุงร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งหัวใจ สมอง ผิวพรรณ ลดคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง แต่หลายคนอาจทราบแต่เพียงว่า โอเมก้า 3 อยู่ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน แต่ที่จริงแล้วกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ปลาไทยของเรานี่แหละ มีโอเมก้า 3 สูงไม่แพ้ปลาจากต่างประเทศเลยทีเดียว มาดูรายชื่อกันดีกว่าว่ามีปลาอะไรบ้าง

ปลาทะเล

1. ปลาจะละเม็ดขาว

ปลาจะละเม็ดมีลักษณะรูปร่างป้อมสั้น เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลำตัวแบนข้างมาก ตาค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กและเฉียงขึ้น พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทย และบริเวณหมู่เกาะอ่างทองมีอยู่ชุกชุม รวมถึงฝั่งทะเลอันดามัน นิยมนำไปนึ่ง หรือทอด เช่น นึ่งบ๊วย นึ่งซีอิ๊ว

2. ปลาสำลี

ปลาสำลี ไม่มีเกล็ดแข็งบนเส้นข้างตัวตอนปลาย ลำตัวค่อนข้างยาว ปลายจะงอยปากมน สีหลังสีเทาอมน้ำตาล สีข้างและท้อง เป็นสีเทาจางลงมาเรื่อย ๆ บริเวณสันท้องจะเป็นสีขาว ขนาดใหญ่ที่สุดยาวถึง 70 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม นิยมนำไปทอด ทำปลาสามรส นึ่งสำลี หรือเผาแล้วทานกับน้ำจิ้มซีฟู้ด

3. ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาวสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืด และน้ำกร่อย มีรูปร่างลำตัวหนาและด้านข้างแบน หัวโต จะงอยปากค่อนข้างยาวและแหลม พื้นลำตัวสีขาวเงินปนน้ำตาล แนวสันท้องสีขาวเงิน มีขนาดความยาวประมาณ 20 – 40 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 2 เมตร นิยมนำไปทำอาหารได้หลากหลาย ต้ม ผัด แกง ทอด นึ่ง

4. ปลาทู

ปลาทูมีลำตัวแป้นยาวเพรียว ตาโต ปากกว้าง จะงอยปากจะแหลม เกล็ดเล็กละเอียด มีความยาวประมาณ 14 – 20 เซนติเมตร ทำอาหารได้ทั้งนึ่ง ทอด ต้มยำ หรือทำน้ำพริกปลาทู โดยใช้เนื้อปลาทูโขลกผสมรวมกับกะปิ และบ้านเรามีขายทั้งปลาทูนึ่งใส่เข่ง และปลาทูสด

5. ปลาเก๋า

ปลาเก๋าเป็นปลาขนาดใหญ่ มีรูปร่างโดยรวม คือ ร่างยาวอ้วนป้อม แบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็ก สีตามตัวและครีบเป็นดอกดวง แต้ม หรือบั้ง ฉูดฉาดหรือคล้ำทึบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาด สามารถนำมาทำเมนูได้หลากหลาย ทั้งสามรส นึ่งซีอิ๊ว ผัดฉ่า ราดพริก และลวกจิ้ม

ปลาน้ำจืด

6. ปลาดุก

ปลาดุกเป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวยาว มีหัวที่แบนและแข็ง มีหนวดยาวแปดเส้น มีครีบหลังและครีบก้นยาวเกินครึ่งของความยาวลำตัว นิยมนำไปทอดกรอบ ผัดฉ่า เมนูที่มีรสชาติร้อนแรงเพื่อกลบความคาว ที่นิยมกันมากก็น่าจะเป็น ยำปลาดุกฟู นั่นเอง

7. ปลาสวาย

ปลาสวายมีส่วนหัวค่อนข้างเล็ก แนวบริเวณหัวถึงครีบหลังลาดตรง ตาอยู่เสมอหรือสูงกว่ามุมปาก รูปร่างเพรียวแต่ป้อมสั้น ครีบสีจาง ครีบหางมีแถบสีคล้ำตามแนวยาวทั้งตอนบนและล่าง ปลาสวายอาจจะคาวได้ ดังนั้น วิธีที่นิยมนำมาปรุงอาหารจึงเป็นการทอดกระเทียม หรือนำไปทอดแล้วค่อยราดน้ำยำมะม่วงสับ

8. ปลาช่อน

ปลาช่อนน่าจะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน นิยมนำไปใส่ในแกงส้ม ปลาช่อนลุยสวน หรือต้มยำ

9. ปลานิล

ปลานิลสามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีขนาดลำตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 10 – 30 เซนติเมตร แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี ทำได้หลายอย่างทั้งทอด สามรส ราดพริก นึ่งซีอิ๊ว หรือนึ่งมะนาว

10. ปลากราย

มีปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในวัยอ่อนจะมีสายเหมือนเสือ และจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเทาเงินเมื่อโตขึ้น ที่เราได้ยินบ่อย ๆ คงจะเป็นลูกชิ้นปลากราย ทอดมันปลากราย หรือผัดเผ็ดปลากราย

ได้ไอเดียในการทำอาหารวันนี้กันหรือยังคะ เลือกเอาสักปลาหนึ่ง แล้วทำอาหารให้คนที่คุณรักได้ทานกันดีกว่า แต่ถึงปลาเหล่านี้จะมีโอเมก้า 3 สูง แต่ก็มีไขมันอิ่มตัวสูงเช่นกัน เช่น ปลาสวาย ปลาดุก ดังนั้น ควรสลับทานทั้งปลาทะเล และปลาน้ำจืด และอาจสลับทานกับเนื้อสัตว์ไม่ติดมันบ้างนะคะ เพื่อให้ได้สารอาหารที่หลากหลายเพิ่มขึ้นค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, Wikipedia
ภาพประกอบจาก Wikipedia
ที่มา health kapook

Similar Posts