เรื่องน่ารู้ สงกรานต์ ประเพณีเอกลักษณ์ไทย

เรื่องน่ารู้ สงกรานต์ ประเพณีเอกลักษณ์ไทย

(รูปประกอบจาก www.constanttraveller.com)

ประวัติความเป็นมา
สงกรานต์ คือ ประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑลยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลีในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน โดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม (ข้อมูลจาก Wikipedia.org)

สงกรานต์ เป็นคำในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้าย โดยเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายการประทับในจักรราศี หรือการเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ตามความเชื่อ ประเพณีสงกรานต์นั้นมีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ ปัจจุบันได้มีการกำหนดวันที่แน่นอน คือ ตั้งแต่ 13 – 15 เมษายน

เรื่องน่ารู้ สงกรานต์ ประเพณีเอกลักษณ์ไทย

(รูปประกอบจาก en.wikipedia.org)

พิธีสงกรานต์เดิมเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือชุมชนใกล้เคียง ในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ (ข้อมูลจาก sanook.com) โดยจะมีการรดน้ำให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงเรียกเป็นเทศกาลสงกรานต์ โดยมีกิจกรรมเพิ่มเติมจากสมัยโบราณ มีการจัดเป็นวันครอบครัวและจัดกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก ทั้งนี้ หลาย ๆ กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จนนำรายได้มาสู่จังหวัดได้เป็นอย่างมาก

เรื่องน่ารู้ สงกรานต์ ประเพณีเอกลักษณ์ไทย

(รูปประกอบจาก today.line.me)

กิจกรรมที่นิยมทำช่วงเทศกาลสงกรานต์

  • การทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
  • การรดน้ำ นับได้ว่าเป็นการอวยพรปีใหม่ให้แก่กันและกัน น้ำที่นำมาใช้รดหัวในการนี้มักเป็นน้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
  • การสรงน้ำพระ เป็นการรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด ซึ่งในบางที่ก็จะมีการจัดให้สรงน้ำพระสงฆ์เพิ่มเติมด้วย
  • การบังสุกุลอัฐิ สำหรับเถ้ากระดูกของญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มักทำที่เก็บเป็นลักษณะของเจดีย์ จากนั้นจะนิมนต์พระไปบังสุกุล
  • การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการที่เราไปอวยพรผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพนับถือ อย่างครูบาอาจารย์ มักจะนั่งลงกับที่ จากนั้นผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำธรรมดารดลงไปที่มือ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด หากเป็นพระก็อาจนำเอาผ้าสบงไปถวายเพื่อให้ผลัดเปลี่ยนด้วย แต่หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง หรือผ้าขาวม้าไปให้เปลี่ยน มีความหมายกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ในวันปีใหม่ไทย (ข้อมูลจาก kapook.com)
  • การดำหัว มีจุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำของทางภาคกลาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นการดำหัวได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสกว่า ไม่ว่าเป็นพระ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน หรือเป็นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวหลัก ๆ ประกอบด้วย อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้
  • การปล่อยปลาปล่อยสัตว์ สืบเนื่องจากวันสงกรานต์อยู่ในช่วงหน้าแล้ง อากาศร้อนจัด ตามท้องร่องท้องนาน้ำจะระเหยเหลือติดก้น มีปลาที่ยังไม่ตายเหลืออยู่ จึงมีการจับแล้วนำไปปล่อยในช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งรวมถึงการปล่อยนกด้วย แต่ปัจจุบันหลาย ๆ ที่ใช้วิธีการจับมาปล่อย ซึ่งหลาย ๆ คนมองว่าน่าจะเป็นบาปมากกว่าบุญ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม (ข้อมูลจาก educatepark.com)
  • การก่อเจดีย์ทรายหรือการขนทรายเข้าวัด เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา โดยเสมือนการนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัด มาคืนวัดในรูปของพระเจดีย์ทราย โดยถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ ปัจจุบันประเพณีนี้พบเพียงในประเทศไทยและลาวเท่านั้น (ข้อมูลจาก Wikipedia.org)

Similar Posts