รู้แบบนี้แล้ว ออกกำลังกายดีกว่า

(รูปประกอบจาก www.freepix.com)
จากข้อมูลปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิตจากการออกกำลังกาย ทั่วโลกอยู่ที่ 1: 80,000 – 200,000 โดยการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมาจากโรคแฝงที่นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายไม่รู้ หรือรู้และอยู่ในระหว่างการรักษาหรือการควบคุม โอกาสที่จะเสียชีวิตในคนที่แข็งแรงไม่มีโรคแฝงจากกการออกกำลังหรือเล่นกีฬาโดยตรงนั้น มีโอกาสเกิดน้อยกว่า
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตจากการเล่นกีฬานั้น มักจะมาจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับหัวใจเป็นหลัก โดยมีโอกาสเกิดสูงในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ไขมันสูง ความดันสูง มีเบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน เป็นต้น เมื่อต้องออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 3 – 5 ชม. และเมื่ออยู่ในสภาพที่มีความฟิตไม่เพียงพอ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ มีเรื่องเครียดก่อนแข่ง นอนดึกก่อนแข่ง จึงมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตระหว่างการเล่นกีฬาสูงขึ้น
โดยโรคหัวใจหลัก ๆ ที่มักทำให้เสียชีวิต มาจากการที่มีลิ่มเลือดหรือก้อน plaque หลุดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันเฉียบพลัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้ในการดำเนินชีวิตปกติอาจไม่มีอาการ นอกจากนี้ การตรวจหลอดเลือดหัวใจตามปกติ เช่น การตรวจเลือด, เอกซเรย์ทรวงอก CT scan, MRI, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การวิ่งสายพาน อาจให้ผลเป็นปกติได้
ในส่วนอาการเตือนที่สำคัญ ๆ ถ้ามีอาการอย่าฝืน อย่าพยายามเล่นต่อ ได้แก่
- การเจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้าหรือช่องท้อง
- เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบบอกเพื่อน ผู้เล่น กรรมการ เพื่อส่งให้หน่วยพยาบาลปฐมพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลทันที
ข้อแนะนำในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต ในขณะเล่นกีฬา
- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตรวจร่างกายตามระดับความเสี่ยง เช่น อายุมาก มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ อาจต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวิ่งสายพาน หรือการตรวจอื่น ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นกีฬาแต่ละราย
- ควรมีการฝึกซ้อมก่อนแข่งอย่างเพียงพอ โดยมีรูปแบบการฝึกทั้งแบบ interval หนักสลับเบา แบบ tempo หนักต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความทนทาน การฝึกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นต้น ที่สำคัญต้องค่อย ๆ เพิ่มระดับความหนักอย่างช้า ๆ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้มีการปรับตัว
- ถึงวันแข่งหรือวันเล่นกีฬา ให้เล่นเหมือนกับที่ซ้อมมา อาจเข้มข้นขึ้นได้อีกเล็กน้อย ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายคุ้นเคยกับระดับความหนักของการเล่นระดับนี้มาแล้ว
- ในกีฬาที่ต้องออกต่อเนื่อง ยาวนาน ให้คุมชีพจรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แช่อยู่ใน HR zone สูง ๆ เป็นเวลานาน ควรดื่มน้ำ เติมเกลือแร่สม่ำเสมอหากมีการสูญเสียเหงื่ออย่างมาก
- หากพบอาการเตือน เช่น แน่นหน้าอก เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม อย่าฝืนเล่นหรือวิ่งต่อ ให้หยุดพัก ติดต่อสถานพยาบาลใกล้ที่สุด หากท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจ หรือมีประวัติเจ็บป่วยอยู่แล้ว