มุมมองโรคฮิตหน้าฝน จากแพทย์แผนไทย

ในช่วงฤดูฝนหรือที่เรียกว่า วสันตฤดู ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย สภาพอากาศจะเย็นและชื้น หากกระทบร่างกาย จะส่งผลให้ธาตุลมในร่างกายเสียสมดุลเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ดูแลสุขภาพไม่ดี และโรคที่มักเกิดได้บ่อย ได้แก่ อาการหวัด คัดจมูก ไอ จาม ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น กลุ่มเสี่ยงที่เจ็บป่วยได้ง่าย คือ คนธาตุลม ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ซึ่งจะต้องรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ
ในทางการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้านจะมีการแนะนำให้นำพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีรสเผ็ดร้อนมาปรุงอาหารเพื่อป้องกันโรค เพราะสมุนไพรรสเผ็ดร้อนจะกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้วิงเวียนศีรษะได้ดี สมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย แมงลัก สะระแหน่ ช้าพลู ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชี โหระพา หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด พริกไทย เป็นต้น เมนูอาหารที่แนะนำ เช่น แกงส้ม ต้มยำ น้ำพริกผักจิ้ม ไก่ผัดขิง ฯลฯ น้ำสมุนไพร เช่น น้ำตะไคร้ น้ำขิง ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการบริโภคช่วงฤดูฝน คือ อาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด และอาหารที่ย่อยยาก เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ธาตุลมในร่างกายแปรปรวนและเสียสมดุลมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย
แต่หากเกิดอาการหวัด คัดแน่นจมูก หรือภูมิแพ้อากาศ ทางการแพทย์แผนไทยก็มีวิธีแก้ง่าย ๆ ด้วยการรมไอน้ำ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากสามารถทำที่บ้านได้ด้วยตนเอง โดยการนำหอมแดง 3 – 4 หัว ทุบพอแหลก ใบมะขามและใบส้มป่อยอย่างละ 1 กำมือ ใส่กะละมังหรือหม้อที่ทนความร้อนแล้วเติมน้ำร้อนใส่พอท่วมสมุนไพร ปิดฝาหม้อไว้ 2 – 3 นาที ให้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรส่งกลิ่นหอม จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ คลุมศีรษะ และเปิดฝาหม้อรมไอน้ำให้ทั่วใบหน้าสูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ประมาณ 5 – 10 นาที หรือกว่าไอน้ำจะหมด ทำช่วงเช้าเป็นระยะเวลา 4 – 5 วัน อาการคัดแน่นจมูกจะค่อย ๆ ดีขึ้น ตามลำดับ

ขอยกตัวอย่าง เมนูช่วยในการปรับตัวรับหน้าฝน เมนู “ขิง” โดยขิงรับประทานได้ทั้งสดและแห้ง หากต้องการรับประทานขิงสด สามารถใช้ขิงแก่ขนาดประมาณ 2 หัวแม่มือ หรือน้ำหนัก 5 กรัม ล้างให้สะอาด ทุบให้แตก ต้มดื่มครั้งละ 1/3 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หรือฝานขิงสด 4 – 5 แว่น เคี้ยวกิน หรือชงเป็นชาดื่ม โดยนำขิงมาปอกเปลือกล้างให้สะอาด หั่นเป็นแว่นใส่หม้อที่เตรียมน้ำไว้ ตั้งไฟต้ม จนเดือด ยกลง กรองเอาขิงออก ชิมรสตามชอบ ดื่มวันละ 3 – 4 ครั้ง ข้อควรระวังสำหรับการใช้ขิง ควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) ยาละลายลิ่มเลือด (antiplatelet) และผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหานิ่วในถุงน้ำดี
ถึงตอนนี้ เพื่อน ๆ ก็มีทางเลือกเพิ่มเติมในการรับมือกับหน้าฝนแล้วค่ะ
น้ำมันพืชตราผึ้ง ปลอดไขมันทรานส์
“ผึ้ง” กรอบอร่อยได้คุณค่า แบรนด์ของคนรุ่นใหม่
Cooking By Bee