ท่องตลาดโบราณสามชุก ตลาด 100 ปี แห่งเมืองสุพรรณ
นึกนามสามชุกถ้า ป่าดง
เกรี่ยงไร่ได้ฟ่ายลง แลกล้ำ
เรือค้าท่านั้นคง คอยเกรี่ยง เรียงเอย
รายจอดทอดท่าน้ำ นับฝ้ายฃายฃอง ฯ
นิราศเมืองสุพรรณ สุนทรภู่
จากนิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่ แสดงให้เราเห็นว่า สามชุกเป็นย่านการค้าสำคัญของลำน้ำท่าจีนในอดีต เป็นแหล่งรวมสินค้าจากทั่วทุกสารทิศ โดยในยุคนั้นชาวบ้านจะนำของพื้นเมือง รวมทั้ง เกลือ ฝ้าย แร่ สมุนไพร มาแลกเปลี่ยนซื้อขายให้กับพ่อค้า และจากความรุ่นเรืองในอดีตนี้เอง ได้ทิ้งร่องรอยไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ยลในปัจจุบัน
เมื่อทีมงานผึ้งได้เดินทางมาถึงตลาดสามชุก สิ่งแรกที่เราสัมผัสได้คือ มนต์เสน่ห์แห่งอดีตอันแสนตราตรึงใจ ด้วยอาคารไม้ 2 ชั้น เก่าแก่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ทางเข้าของตลาดจะเป็นซุ้มประตูไม้แบบโบราณ แกะสลักชื่อไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนว่า “ตลาดสามชุก ตลาด 100 ปี ” ตั้งคู่อยู่กับตู้ไปรษณีย์โบราณตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ทำจากประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของตลาดจีนโบราณแห่งนี้
“ตลาดสามชุก ตลาด 100 ปี” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่ออำเภอ “นางบวช” ตั้งอยู่บริเวณตำบลนางบวช ต่อมาในปี 2457 ต้นรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายอำเภอมาตั้งที่บ้าน “สำเพ็ง” ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญในสมัยนั้น จนกระทั่งปี 2481 สมัยรัชกาลที่ 8 ได้เปลี่ยนชื่อจาก “อำเภอนางบวช” มาเป็น “อำเภอสามชุก” และย้ายมาตั้ง อยู่ริมลำน้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยผ่านคลองมะขามเฒ่า
แต่เดิมบริเวณที่ตั้งอำเภอสามชุกเรียกว่า “ท่ายาง” มีชาวบ้านนำของป่าจากทิศตะวันตกมาค้าขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ บ้างก็มาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้ เป็น 3 สาย จึงเรียกบริเวณที่ค้าขายนี้ว่า “ สามแพร่ง “ ต่อมาได้เพี้ยน เป็น สามเพ็ง และสำเพ็งในที่สุด ดังปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ในนิทานพื้นบ้านย่านสุพรรณมีเรื่องกล่าวต่อไปว่า ในระหว่างที่คนมารอขายสินค้าก็ได้ตัดไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของขาย เรียกว่า “กระชุก” ชาวบ้านจึงเรียกว่า “สามชุก” มาถึงปัจจุบัน
การได้เดินเที่ยวชมสถาปัตยกรรมของบ้านไม้โบราณสุดคราสสิค ตัวอาคารไม้ทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น ซึ่งมีการตกแต่งด้วยลวดลายฉลุไม้ที่เรียกว่าลายขนมปังขิง โดยที่พบในตลาดนี้มีถึง 19 ลายด้วยกัน โดยได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และเรายังได้เพลินตากับข้าวของเครื่องใช้โบราณอย่าง เครื่องทองเหลือง เครื่องเงิน ปิ่นโตโบราณหลากสี ตระเกียงโบราณ ร้านขายของเล่นยุค 90 หรือจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ร้านขายของฝาก ก็มีให้เลือกซื้อเลือกสรรเป็นของฝากมากมาย ซึ่งการมาที่ “ตลาดสามชุก ตลาด 100 ปี” แห่งนี้ ทีมงานผึ้งไม่ได้มาเพื่อเพลินตาอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราจะมาเพลินกระเป๋าด้วยของฝากสุดอลังการและเพลินพุงกันด้วยอาหารทั้งคาวหวานของที่นี่กันค่ะ
เรามาเพลินกระเป๋ากับสารพัดขนมโบราณให้เลือกซื้ออย่าง ทองม้วนกรอบสูตรโบราณ ขนมเปี๊ยะไข่เค็มโบราณ ขนมสาลี่ หมี่กรอบสามรส ขนมหมอแกง สาเกเชื่อม ขนมโก๋อ่อน มันเชื่อม มะยมเชื่อม ขนมถั่วทอด ถั่วตัด งาตัด ขนมกง ตังเมโบราณ กุนเชียงปลาสลิด กุนเชียงปลากราย และยังมีปลาแดดเดียวหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ปลาหวาน ปลาแป้นแก้ว ลูกปลาทู ปลาสลิดตัวอวบอ้วนที่มาพร้อมกับไข่ปลาเต็มท้อง ปลาช่อนนา ปลาเนื้ออ่อน และปลาหลด ฯ แน่นอนว่าผึ้งได้ช็อปกระจาย เหมาแทบทุกร้านเลยค่ะ
หลังจากช็อปมาได้สักพักแรงเริ่มตก ท้องเริ่มประท้วง ผึ้งก็ขอพักยก มาเพลินพุงชวนชิมกับนิสาลูกชิ้นยักษ์ เจ้าแรกแห่งตลาดสามชุก ที่มีลูกชิ้นทั้งหมูและเนื้อก้อนกลมอวบอ้วนชวนกินวางเรียงอยู่ แต่ที่เห็นแล้วสะดุดตาที่สุดคงหนีไม่พ้นลูกชิ้นหมูปิ้งไซต์ยักษ์ไม่ว่าใครก็ต้องเหลียวมอง ผึ้งเห็นแล้วก็อดใจไม่ไหวเลยต้องจัดมาชิมสักหน่อย ซึ่งรสที่ได้นั้นเหนียวนุ่ม ได้เนื้อหมูเต็มๆ เพราะทางร้านใส่แป้งน้อยมาก ยิ่งได้ทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู๊ดรสแซบอร่อยสุดยอดไปเลยค่ะ
มาต่อกันที่ร้านช้อนทอง ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมู ที่มีให้เลือกทานทั้งน้ำใสและต้มยำ ซึ่งผึ้งก็สั่งมาทั้ง เส้นหมี่น้ำใส่ ที่น้ำซุปหวานกลมกล่อมกำลังดี ลูกชิ้นหมูที่ใส่มานั้นก็เหนียว นุ่ม แป้งน้อยมาก เนื้อหมูที่ใส่มาก็นุ่มมาก กัดไปนี่แทบละลายในปากได้เลยค่ะ
ส่วนบะหมี่ก๋วยเตี๋ยวต้มยำนั้นทางร้านจะปรุงมาให้รสออกเปรี้ยวนิดๆ เผ็ดหน่อยๆ ใครที่ชอบทานรสจัดสามารถปรุงเพิ่มเองได้เลย เมื่อทานคู่กับน้ำอ้อยปั่นหอมหวานชื่นใจ เข้ากันได้ดีมาก ๆ ค่ะ
ขนมจีนแม่บุญชู ที่มีให้เลือกทานทั้งเขียวหวานลูกปลากกรายทำเอง เขียวหวานไก่ น้ำยาปลาช่อน น้ำยาป่า ซึ่งรสชาติเข้มข้นมาก ๆ พร้อมผักสดให้เราตักทานกับขนมจีนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ทางร้านยังมีแกงบอน แกงส้มไหลบัวผักบุ้ง ปูหลน แกงขี้เหล็ก น้ำพริกมะขามสด ปลาร้าหลน และน้ำพริกเผาให้เลือกซื้ออีกมากมาย
ขนมไข่ปลาโบราณ เป็นขนมที่หารับประทานได้ยากมากในปัจจุบัน ทำจากลูกตาลสุกผสมกับแป้งปั้นเป็นรูปไข่ปลาสลิดแล้วนำไปนึ่งให้สุก คลุกเคล้าด้วยมะพร้าวทึนทึก เวลาทานต้องจิ้มกับน้ำตาล เมื่อกัดไปคำแรกคือเหนียว นุ่ม หนึบหนับเวลาเคี้ยว ได้กลิ่นหอมและรสของลูกตาล และขนมชนิดนี้ยังเป็นขนมพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วยนะคะ
หลังจากที่อิ่มทั้งของคาวและขนมหวานแล้ว ก็ต้องมีเครื่องดื่มดับร้อนกันหน่อย ซึ่งใครที่มาตลาดสามชุกแล้วไม่แวะร้านกาแฟในตำนานอย่าง ร้านกาแฟท่าเรือส่ง ถือว่ามาไม่ถึงตลาดสามชุก ด้วยเปิดขายมาตั้งแต่รุ่นคุณเตี่ย สมัยก่อนเป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของชาวตลาด ตัวร้านเป็นอาคารไม้ห้องแถว 2 ชั้น โต๊ะกาแฟเป็นทรงกลมแบบโบราณ มีเครื่องดื่มให้เลือกหลากหลายอย่างด้วยกัน ทั้ง กาแฟโบราณ ชานม ชาดำเย็น บ๊วยมะนาว โกโก้ โอเลี้ยง รสเข้มข้ม กลมกล่อมกำลังดี และไม่หวานมากนัก ผึ้งดื่มแล้วอร่อยสมคำร่ำลือจริง ๆ
เมื่อเติมพลังจนอิ่มท้องแล้วเราก็มาเพลินตากันต่อ ณ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ.2459 ปลูกเป็นบ้าน 3 ชั้น คอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของลุ่มน้ำท่าจีน อันเป็นแม่น้ำสายหนักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวสุพรรณบุรีมาช้านาน เมื่อเดินขึ้นมาชั้น 2 จะจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติของขุนจำนง จีนารักษ์ มีทั้งภาพถ่ายเก่า ๆ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่อย่าง ถ้วยชามจีนโบราณ เครื่องรายคราม โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน ทีวี โคมไฟโบราณ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีมาจนถึงทุกวันนี้
ขุนจำนง จีนารักษ์ มีชื่อเดิมว่า หุย แซ่เฮง เป็นชาวจีนที่เกิดในประเทศไทย ท่านเกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในวัยเด็กได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศจีน แล้วกลับมาเมืองไทยเมื่อมีอายุกว่า 20 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย มีกิจการโรงเหล้าและโรงยาฝิ่น กิจการค้าขายของท่านเจริญรุ่งเรือง ครอบคลุมหลายอำเภอ ท่านจึงเป็นที่รู้จักของข้าราชการและบุคคลทั่วไป
อีกทั้งเป็นคนมีเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้เป็นผู้นำชุมชนที่มีผู้นับหน้าถือตา มีตำแหน่งเป็นกรรมการพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี นายอากรสุรา-ฝิ่น และเป็นบุคคลตัวอย่างระดับจังหวัด จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนจำนงจีนารักษ์ ศักดินา 400 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระปก เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 ท่านอาศัยอยู่ที่บ้านสวนจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2517 รวมอายุได้ 83 ปี
จากนั้นเราก็มาเพลินตาไปกับอดีตอันน่าหลงไหลอย่าง ร้านบ้านโค้ก เป็นอีกหนึ่งสีสันของตลาดสามชุก ที่รวบรวมสารพัดอย่างจากโค้กมาจัดแสดง ทั้งโค้กจากยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ของสะสม ของเล่น โต๊ะเก้าอี้ ซึ่งเสียค่าเข้าเพียง 20 บาท เท่านั้น
ร้านกาแฟอุดมโชค หรือ โรงแรมอุดมโชค เป็นโรงแรมเก่าแก่ดั่งเดิมแห่งตลาดสามชุก ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้เปิดให้บริการแล้ว แต่ก็ยังเป็นสถานที่เก็บรวบรวมงานศิลปะ ภาพวาดจาดศิลปินต่าง ๆ มาจัดแสดงไว้ และร้านศิลป์ธรรมชาติ จัดแสดงภาพถ่ายตั้งแต่ขาวดำจนถึงภาพสี ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการถ่ายภาพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าตลาดแห่งจะมีความรุ่งเรืองมากแค่ไหน แต่ก็ยังมีช่วงที่ซบเซาจนถึงขนาดเกือบถูกปิดตลาดมาแล้ว เนื่องจากประมาณปี 2510 การคมนาคมทางบกเริ่มเข้ามามีบทบาทและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การคมนาคมทางน้ำค่อย ๆ หมดความสำคัญ ตลาดริมน้ำแห่งนี้เริ่มซบเซา เงียบเหงา ผู้คนเริ่มย้ายออกไปทำมาหากินที่อื่น แต่แล้วในปี 2543 ได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางแก้ไข และในปี 2545 ตลาดสามชุกได้เข้าร่วมโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ของมูลนิธิชุมชนไท โดยการสนับสนุนของ พอช.สสส.
ปี 2546 ตลาดสามชุกได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 12 เมืองนำร่องโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ปี 2548 กิจกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์เป็นที่ยอมรับและชื่นชมจากทุกวงการ จนได้รับคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และทุกวันนี้ “ตลาดสามชุก ตลาด 100 ปี” แห่งนี้ได้ถูกขนาดนามว่า “ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา”
น้ำมันพืชตราผึ้ง ปลอดไขมันทรานส์
“ผึ้ง” กรอบอร่อยได้คุณค่า แบรนด์ของคนรุ่นใหม่
Cooking By Bee