ชุมชนคลองโอ่งอ่าง” มนต์เสน่ห์ที่ไม่ได้หายไปไหน
ถ้าพูดถึง “ชุมชนหรือย่านกินเที่ยว” ต้องนึกถึงความคึกคัก ความตื่นตัวและความอร่อยของหลากหลายเมนู ผู้คนมักค้นหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของปากท้อง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหลายคน เพราะการได้ค้นหารสชาติใหม่ๆ ในสถานที่ที่แปลกไปจากเดิม น่าจะเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจขึ้นมาได้ มีหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงและสร้างสีสันให้กับชุมชนในเชิงสร้างสรรค์และอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารของคนในชุมชนนั้นๆ ไว้ “คลองโอ่งอ่าง” ก็เป็นหนึ่งชุมชนที่ได้สร้างความแปลกใหม่นั้นขึ้นมา จนได้รับรางวัล 2020 Asian Townscape Awards จาก UN-Habitat Fukuoka ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบของการปรับปรุงภูมิทัศน์ (Landscape Improvement Project) แต่วันนี้ดูเหมือนว่าผู้คนเริ่มห่างหายกันไปบ้าง ในขณะที่ร้านค้า พ่อค้าและแม่ค้าในชุมชนแห่งนี้ยังคงรอคอยผู้มาเยือนอยู่เสมอ รวมไปถึงกำแพงศิลปะขนาดใหญ่ ที่บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในย่านชุมชนเก่าผ่านสีสันและลายเส้นสวยงามให้เรียนรู้และชื่นชมในแต่ละวัน
วันนี้ “ชุมชนคลองโอ่งอ่าง” แม้ว่าจะดูเงียบเหงาไปบ้าง ต่างจากช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ที่ผู้คนให้ความสนใจและหลั่งไหลกันเข้ามาแวะเวียน ความคึกคักในวันนี้ค่อยๆ แผ่วเบาลงไปบ้างทั้งกลางวันและกลางคืน แต่อย่างไรก็ตามร้านค้า พ่อค้าและแม่ค้าที่อาศัยอยู่ในถิ่นเดิมของตนก็ยังคงทำมาค้าขายกันอยู่เป็นปกติ ชุมชนแห่งนี้เกิดมา พร้อมกับความเก่าแก่ดั้งเดิม ที่ยังคงสะท้อนคุณค่าและจุดประกายให้ผู้คนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าเรามองกันแค่เศรษฐกิจเป็นตัวชี้นำคุณค่า คงไม่ได้ แต่ถ้ามองชุมชนที่เกิดมาพร้อมกับเรื่องราวและคุณค่า “ชุมชนคลองโอ่งอ่าง” ยังรอคอยพวกเราให้มาเยือนเสมอ
“คลองโอ่งอ่าง” เป็นชุมชนชาวต่างชาติที่มาใช้ที่ดินบริเวณนอกกำแพงวังอยู่อาศัย ซึ่งมีประวัติที่มาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองจากวัดสังเวชวิศยารามไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มายังวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) มีระยะทางประมาณ 750 เมตร “คลองโอ่งอ่าง” เป็นเส้นแบ่งระหว่างเขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร
“คลองโอ่งอ่าง” เป็นชื่อเรียกจากชาวบ้านที่มองเห็นภาชนะดินเผาของชาวจีนที่นำมาค้าขายบริเวณคลองนี้ ส่วนชื่อต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “สะพานหัน” เพราะมีสะพานไม้ที่หันหลบเรือค้าขาย และเป็นสะพานที่เดินทางของชาวบ้านและชาววังที่เดินทางเข้าประตูเมืองใกล้เคียง ร้านค้าขายในย่านสะพานหันจะเป็นชุมชนชาวจีน ชาวแขก และชาวไทยบางส่วนที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างวังของเจ้านายบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ วังของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, วังบูรพาภิรมย์ ของกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และวังของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา “สะพานหัน” เป็นชื่อเรียกสะพานตามไม้กระดานที่จับหันไปหันมาได้ ชักหลบเรือสินค้าที่มีหลังคาสูง
พอมาในยุคต้นรัตนโกสินทร์ “คลองโอ่งอ่าง” เป็นทางผ่านของเรือพาย สองข้างฝั่งขายสินค้าประเภทเครื่องดินเผา โอ่ง ไห อ่าง ตามชื่อเรียกของสินค้า ยุคต่อมาเป็นการค้าขายอาหารและสินค้าที่นำเข้ามาจากจีน และอินเดีย เช่น ผ้ายกพับในตลาดพาหุรัดที่เราเห็นกันอยู่ในวันนี้ และนี่คือวิถีชีวิตดั้งเดิมของหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน
“ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง” มีวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ และมีร้านอาหารไทย จีนและอินเดีย รอรับนักท่องเที่ยวอยู่ เพื่อนๆ ที่นิยมชมชอบและติดใจในรสชาติของอาหารอินเดีย ต้องมาแถวนี้เลยไม่ผิดหวังแน่นอน ถือว่าเป็นสตรีทฟู้ดที่มีให้เลือกทานได้ทั้งไทย จีน และอินเดีย ตรงจุดนี้ขอพูดถึงอาหารอินเดียกันสักนิด เพราะแต่ละเมนูนั้น เรียกได้ว่าไม่มาลอง คงไม่ได้ อย่างเช่นร้าน “Mama’s India Cuisine” ซึ่งเปิดบริการด้วยฝีมือขั้นเทพมากว่า 20 ปีแล้ว กับรสชาติต้นตำรับอินเดียที่เปี่ยมด้วยเครื่องเทศหอมๆ ที่เชิญชวนจริงๆ
“ชุมชนคลองโอ่งอ่าง” ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่ ยังจุดประกายคุณค่าอย่างไม่มีวันเลือนหายจึงอยากชวนเพื่อนๆ มาแวะเวียนกินเที่ยว ณ ชุมชนเก่าย่านคลองโอ่งอ่างกันอย่างต่อเนื่อง
“น้ำมันปาล์มตราผึ้ง” โดยกลุ่มปาล์มธรรมชาติ ขอร่วมส่งเสริมเพื่อสืบสานคุณค่าแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของการ “กินดี อยู่ดี สุขภาพดี” ของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง